โรคนอนกรน อาการ นอนกรน มักเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนแคบจากโครงสร้างต่าง ๆ เช่น อ้วน ทอนซิลโต และลิ้นไก่ยาว ในหน้านี้เราจึงอยากจะมาแนะนำเกี่ยวกับโรคชนิดนี้ หลายคนอาจจะมองว่ามันไม่อันตราย แต่จริงๆแล้วมันอันตรายถึงชีวิต เนื้อหาจะเป็นแบบไหนบ้างมาดูไปพร้อมๆกันเลย
โรคนอนกรน ภัยใกล้ตัว
การนอนกรนก่อปัญหาให้ทั้งผู้ที่มีอาการและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด คนที่มีอาการนอนกรนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลาย ๆ โรค เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น โรคนอนกรนเกิดจาก การที่ลมผ่านทางท่อหายใจที่แคบลงและเกิดการสั่นไหวรอบ ๆ ของเนื้อเยื่อคอ เช่น เพดานอ่อนลิ้นไก่
ก็เลยเกิดเป็นเสียงกรน การนอนกรนเด็กก็สามารถเป็นได้ แต่สาเหตุจะแตกต่างกับผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เป็นโรคนอนกรนก็คือเนื้อเยื่อในคอมีค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นสาเหตุของโรคนอนกรนก็เกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้ท่อทางเดินหายใจแคบลงนั่นเอง
นอนกรน อันตรายหรือไม่ ?
- การกรนธรรมดา (primary snoring) และกลุ่มอาการทางเดินหายใจส่วนบนมีแรงต้าน (UPPER airway resistance syndrome) คือ อาการนอนกรนที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน อาจพบอาการหยุดหายใจขณะหลับได้แต่ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- การนอนกรนที่อันตราย คือ อาการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับถึงเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea – OSA) เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหยุดหายใจไปชั่วขณะ ทำให้อากาศผ่านได้น้อยลง โดยจะมีอาการนอนกรนเสียงดังแล้วหยุดเงียบไปชั่วระยะเวลาหนึ่งบางคนจะมีการสะดุ้งหายใจเฮือกขึ้นมาตอนกลับมาหายใจอีกครั้ง
โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) กับการนอนกรน
โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหากเป็นมากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เพราะอาจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในจังหวะที่หยุดหายใจ ในขณะนอนหลับอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังหยุดหายใจ การนอนกรนเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
โดยคนที่นอนกรนมีโอกาสพบภาวะหยุดหายใจขณะหลับเพิ่มมากขึ้น หากมีอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ถ้าเป็นมากและไม่รีบรับการรักษาอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันเลือดสูง หัวใจล้มเหลว หัวใจเสียจังหวะ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี ต้อหิน กรดไหลย้อน โรคตับ ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และสมรรถภาพทางเพศลดลงได้
ผลเสียของการ นอนกรน
การนอนกรนธรรมดาที่ไม่ได้เกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจไม่เป็นอันตราย แต่เสียงกรนอาจทำให้ผู้ที่นอนด้วยนอนหลับยากจนเกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือคนใกล้ชิด แม้จะบอกว่าอาจไม่มีอันตรายแต่การนอนกรนเป็นประจำก็ทำให้หายใจลำบาก อาจเจ็บคอจากการนอนกรนได้ จึงควรเข้ารับการรักษาและหาสาเหตุอย่างถูกต้อง
ปัจจัยเสี่ยงของอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนหรือตีบแคบผิดปกติ ไปอุดกั้นช่องทางเดินหายใจส่วนบน
- อ้วน มีไขมันในช่องคอมาก
- มีก้อนในช่องทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต เป็นสาเหตุหลักของการนอนกรนและเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท
- มีช่องคอแคบโดยกำเนิดหรือมีโครงหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อทางเดินหายใจ เช่น คางถอย โคนลิ้นใหญ่ ช่องจมูกคด เทอร์บิเนตโตเกิน
กลุ่มเสี่ยงที่อาจพบการกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- ผู้ที่มีโรคทางหัวใจ อัมพาต ความดันเลือดสูง (ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนมาจากโรคกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น)
- โรคภูมิแพ้
- พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่มีคางถอยผิดปกติ
- โครงสร้างของช่องจมูกแคบ เช่น สันจมูกคด เทอร์บิเนตโตขึ้น
- น้ำหนักเกินมาตรฐานทำให้ทางเดินหายใจแคบ
- รับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยานอนหลับ หรือยาระงับประสาทหรือยาระงับความรู้สึก
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
ผู้หญิงกับอาการนอนกรน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนกรนในผู้หญิงเพิ่มขึ้น คือช่วงระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) มีโอกาสที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากสูญเสียฮอร์โมนที่สำคัญ
ปัญหานอนกรนในเด็ก
เด็กนอนกรนถ้าเป็นร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับยิ่งเสี่ยงอันตรายมักมีสาเหตุมาจากต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต ผู้ปกครองควรระวังและหมั่นสังเกตอยู่เสมอ เพราะในบางกรณีอาจไม่ได้มีอาการนอนกรนเพียงอย่างเดียวแต่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย หากปล่อยให้มีอาการบ่อยครั้งในช่วงของการเจริญเติบโต อาจมีปัญหาต่อระบบประสาทและพฤติกรรมของเด็กได้
นอนกรน อย่างไรควรเข้าพบแพทย์
คนที่มีอาการนอนกรนร่วมกับอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อหาอากาศหายใจ มีอาการอ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะในตอนเช้า ง่วงระหว่างวัน และบางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง เช่น ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพาต หรือทำให้คนรอบข้างนอนไม่หลับ ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอาการนอนกรนต่อไป
การตรวจการนอนหลับ
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เช่น มีอาการนอนกรนเสียงดัง กรนเป็นประจำ กรนในทุกท่วงท่าการนอน หรือสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น มีการตื่นหายใจเฮือกกลางคืนบ่อย ๆ อ่อนเพลียในตอนเช้า ง่วงนอนมากระหว่างวันบ่อย ๆ ทั้งที่ชั่วโมงนอนเพียงพอแล้ว มีโรคประจำตัวที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น ความดันเลือดสูง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุและอาจส่งตรวจการนอนหลับ
การตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นการตรวจการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายขณะนอนหลับเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับที่ไม่ใช่แค่อาการนอนกรน แต่บางคนที่มีความผิดปกติอื่น ๆ ระหว่างนอนหลับก็สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีนี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง มีระดับความละเอียดในการตรวจหลายระดับ ตั้งแต่การตรวจแบบละเอียดที่สุดจนถึงการตรวจเพื่อค้นหาปัญหาบางชนิด
วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการ นอนกรน
- หากมีอาการคัดจมูกจากภูมิแพ้ควรรักษา
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงใกล้นอน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับประสาทและยานอนหลับ
- คุมอาหาร ลดน้ำหนักในกลุ่มที่มีภาวะอ้วนหรือมีค่า BMI เกินมาตรฐาน
- ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง
วิธีรักษาอาการนอนกรน
ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง เช่น
- ปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น การนอนตะแคงอาจดีขึ้นในผู้ป่วยบางราย
- หากอ้วนควรลดน้ำหนัก รักษาน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน
- ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อเปิดทางเดินหายใจที่ตีบแคบให้กว้างขึ้น
- ใส่อุปกรณ์ดึงลิ้นหรือกรามให้เลื่อนไปด้านหน้า
- การผ่าตัดแก้ทางเดินหายใจส่วนที่ตีบแคบ หย่อน ให้กว้างขึ้น เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เทอร์บิเนตอันล่าง การผ่าตัดตกแต่งผนังกลางจมูก การตัดทอนซิล การผ่าตัดเพดานโคนลิ้นและคอหอย และการผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและล่างมาด้านหน้า
อาการนอนกรนอาจส่งผลเสียทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง หากมีปัญหานอนกรนควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุ ภาวะแทรกซ้อน และความผิดปกติที่เกิดจากการนอนกรน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที